ตัวแทนแห่งสันติสุข

ในปี 2015 กลุ่มผู้รับใช้ท้องถิ่นของเมืองโคโลราโดสปริงส์ รัฐโคโลราโดได้รวมตัวกันเพื่อรับใช้ชุมชน และกลุ่มซีโอเอสไอเลิฟยู (COSILoveYou) ได้ถือกำเนิดขึ้น ในฤดูใบไม้ร่วงของทุกปีพวกเขาจะส่งผู้เชื่อออกไปรับใช้ชุมชนในกิจกรรมที่เรียกว่า ซิตี้เซิร์ฟ (CityServe)

เมื่อหลายปีก่อน ผมและลูกๆได้รับมอบหมายให้ไปที่โรงเรียนประถมในตัวเมืองภายใต้กิจกรรมซิตี้เซิร์ฟ พวกเราทำความสะอาด ถอนวัชพืช และทำโครงงานศิลปะโดยสอดเทปพลาสติกสีต่างๆ ไปตามรั้วตาข่ายในลักษณะที่เหมือนกับภูเขา เรียบง่ายแต่สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ

ทุกครั้งที่ผมขับรถผ่านโรงเรียนแห่งนั้น โครงงานศิลปะเล็กๆของเราเตือนให้ผมนึกถึงเยเรมีย์ 29 ในเวลานั้นพระเจ้าทรงสั่งให้คนของพระองค์ตั้งถิ่นฐานและรับใช้ในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ พระองค์บัญชาเช่นนั้นถึงแม้พวกเขาจะเป็นเชลยและไม่ได้ต้องการจะอยู่ที่นั่น

ผู้เผยพระวจนะกล่าวว่า “จงบากบั่นเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของนครซึ่งเราให้เจ้าไปตกเป็นเชลยนั้น จงอธิษฐาน...เพื่อนครนั้น เพราะหากมันเจริญ เจ้าก็เจริญด้วย” (ข้อ 7 TNCV) คำว่า สันติสุขในที่นี้มาจากคำภาษาฮีบรูว่า ชาโลม มีความหมายครอบคลุมถึงความสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีเพียงความประเสริฐและการทรงไถ่ของพระเจ้าเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้เป็นตัวแทนแห่งสันติสุข(ชาโลม)ของพระองค์ในที่ที่เราอยู่ พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราให้สร้างความงดงามและสำแดงถึงชีวิตที่ได้รับการไถ่ ด้วยวิธีที่เรียบง่ายและเป็นรูปธรรมในสถานที่ที่พระองค์ทรงจัดให้เราอยู่

จงพุ่งทะยานสูงขึ้น!

บางครั้งข้อความฝ่ายวิญญาณก็ปรากฏขึ้นในที่ซึ่งเราไม่คาดคิด อย่างเช่นในหนังสือการ์ตูน สแตน ลีผู้จัดพิมพ์หนังสือการ์ตูนมาร์เวลเสียชีวิตในปี 2018 ทิ้งมรดกไว้เบื้องหลังเป็นเหล่าฮีโร่ที่มีเอกลักษณ์ เช่น สไปเดอร์แมน ไอรอนแมน สี่พลังคนกายสิทธิ์ ฮัลค์ยักษ์เขียวจอมพลัง และอื่นๆอีกมากมาย

ชายผู้โด่งดังที่ยิ้มแย้มและสวมแว่นกันแดดนี้มีวลีติดปากที่เขาใช้ลงท้ายคอลัมน์ในการ์ตูนมาร์เวลฉบับรายเดือนมากว่าทศวรรษ คือคำว่า จงพุ่งทะยานสูงขึ้น ในข้อความที่ลีทวีตในปี 2010 เขาอธิบายความหมายไว้ว่าคือ “การก้าวสูงขึ้นและมุ่งหน้าไปสู่ความรุ่งเรืองยิ่งขึ้น” นี่คือสิ่งที่ผมปรารถนาต่อทุกคนเมื่อผมทวีตข้อความ! จงพุ่งทะยานสูงขึ้น!

ผมชอบคำพูดนั้น ไม่ว่าสแตน ลีจะรู้หรือไม่ก็ตามแต่การใช้คำพูดที่พิเศษนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เปาโลเขียนถึงชาวฟีลิปปี เมื่อท่านเตือนสติให้ผู้เชื่อเลิกมองอดีตแต่ให้มองไปเบื้องหน้าและเบื้องบน “แต่ข้าพเจ้าทำอย่างหนึ่ง คือลืมสิ่งที่ผ่านพ้นมา แล้วโน้มตัวไปยังสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า และข้าพเจ้าบากบั่นมุ่งไปสู่หลักชัย เพื่อจะได้รับรางวัลคือการทรงเรียกแห่งเบื้องบนซึ่งมีในพระเยซูคริสต์” (3:13-14 THSV11)

เรามักติดอยู่กับความเสียใจและความสงสัยถึงการตัดสินใจในอดีต แต่ในพระคริสต์นั้น พระองค์เชื้อเชิญให้เรามอบวางความเสียใจโดยมุ่งมองไปข้างหน้าและบากบั่นไปสู่พระสิริอันรุ่งเรืองยิ่งกว่าของพระเจ้า ด้วยการตอบรับการอภัยโทษของพระองค์และเป้าประสงค์ที่พระองค์ทรงประทานให้กับเราด้วยพระเมตตา! จงพุ่งทะยานสูงขึ้น!

ผมเป็นแค่คนขับรถ

“พ่อคะ หนูขอค้างคืนกับเพื่อนได้ไหมคะ” ลูกสาวถามผมตอนที่ก้าวขึ้นรถหลังการฝึกซ้อม “ลูกรัก หนูรู้คำตอบอยู่แล้ว” ผมพูด “พ่อเป็นแค่คนขับรถ พ่อไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไปคุยกับแม่กันเถอะ”

“พ่อเป็นแค่คนขับรถ” กลายเป็นเรื่องตลกในบ้านเรา ทุกวันผมจะถามภรรยาที่เป็นคนจัดการว่าผมต้องอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ และจะพาใครไปที่ไหน เมื่อมีลูกวัยรุ่นถึงสามคน “งานพิเศษ” ของผมในการเป็น “คนขับรถ” นั้นบางครั้งก็ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นอาชีพเสริมนอกเวลางาน ผมมักจะไม่รู้เลยว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้อะไรบ้าง ดังนั้นผมจึงต้องคอยตรวจเช็คกับผู้ควบคุมตารางงานประจำวัน

ในมัทธิวบทที่ 8 พระเยซูพบชายคนหนึ่งที่รู้บางอย่างเกี่ยวกับการมอบและการรับคำสั่ง นายร้อยชาวโรมันคนนี้รู้ดีว่าพระเยซูมีสิทธิอำนาจในการรักษา เหมือนที่นายร้อยมีอำนาจออกคำสั่งแก่ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา “ขอพระองค์ตรัสเท่านั้น บ่าวของข้าพระองค์ก็จะหายโรค ข้าพระองค์รู้ดี เพราะเหตุว่าข้าพระองค์อยู่ใต้วินัยทหาร แต่ก็ยังมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพระองค์” (ข้อ 8-9) พระคริสต์ทรงชมเชยความเชื่อของชายคนนี้ (ข้อ 10, 13) และทรงประหลาดใจที่เขาเข้าใจว่าพระองค์จะทรงใช้สิทธิอำนาจอย่างไรในทางปฏิบัติ

แล้วพวกเราล่ะ เราจะวางใจในพระเยซูในงานประจำวันที่ได้รับมอบหมายจากพระองค์อย่างไร เพราะถึงแม้เราคิดว่าตัวเองเป็น “แค่คนขับรถ” แต่งานที่ทรงมอบหมายให้ทุกอย่างนั้นก็มีทั้งความหมายและจุดมุ่งหมายเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า

พระเยซูทรงขจัดรอยเปื้อน

“นี่ล้อกันเล่นหรือเปล่า!” ผมตะโกนขณะค้นหาเสื้อเชิ้ตในเครื่องอบผ้า ผมเจอมัน และ...เจออย่างอื่นด้วย

เสื้อเชิ้ตสีขาวของผมมีรอยเปื้อนหมึกเป็นดวง อันที่จริงมันดูเหมือนลายเสือจากัวร์เพราะรอยหมึกเลอะเปื้อนทุกสิ่ง ชัดเจนว่าผมไม่ได้ตรวจดูกระเป๋าก่อน หมึกที่ซึมออกจากปากกาจึงเลอะผ้าทุกชิ้น

พระคัมภีร์มักจะใช้คำว่ารอยเปื้อนเพื่อบรรยายถึงความบาป รอยเปื้อนที่ซึมเข้าไปในเนื้อผ้าของสิ่งใดก็ตามทำลายของสิ่งนั้น และนี่คือวิธีที่พระเจ้าตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์เพื่ออธิบายถึงความบาป และเตือนประชากรของพระองค์ว่าพวกเขาไม่มีกำลังพอที่จะชำระล้างรอยเปื้อนของบาปได้ “ถึงแม้ว่าเจ้าชำระตัวด้วยน้ำด่างและใช้สบู่มาก แต่รอยเปื้อนความผิดบาปของเจ้าก็ยังปรากฏอยู่ต่อเรา” (ยรม.2:22)

แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ความบาปไม่ได้เป็นฝ่ายชนะ ในอิสยาห์ 1:18 เราได้ยินพระสัญญาของพระเจ้าที่บอกว่าพระองค์จะทรงชำระเราจากรอยเปื้อนของความบาป “ถึงบาปของเจ้าเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงอย่างผ้าแดง ก็จะกลายเป็นอย่างขนแกะ”

ผมไม่สามารถขจัดรอยหมึกออกจากเสื้อเชิ้ต เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถลบรอยเปื้อนแห่งความบาปของผมออกไปได้ ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงชำระเราในพระคริสต์ เช่นที่ 1 ยอห์น 1:9 ยืนยันว่า “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น”

ถูกใจและเป็นที่รักของพระเจ้า

ปุ่มสัญลักษณ์ “ถูกใจ” ที่เป็นรูปยกนิ้วโป้งในเฟซบุ๊กนั้นดูราวกับว่าจะอยู่กับเรามานานแล้ว แต่อันที่จริงเจ้าสัญลักษณ์ที่แสดงความชอบนี้เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อปี 2009 นี้เอง ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ “ถูกใจ” คือจัสติน โรเซนสไตน์กล่าวว่าเขาต้องการช่วยสร้าง “โลกที่ผู้คนเสริมสร้างกันและกันมากกว่าที่จะทำลายกัน” แต่โรเซนสไตน์กลับต้องเสียใจเมื่อสิ่งที่เขาคิดค้นอาจทำให้ผู้ใช้เสพติดสื่อสังคมออนไลน์ในทางที่เป็นผลเสีย

ผมคิดว่าการสร้างสรรค์ของโรเซนสไตน์สื่อถึงความต้องการตามสัญชาตญาณของเราที่อยากได้คำชมและสัมพันธภาพ เราต้องการรู้ว่ามีคนอื่นที่รู้จักเรา สังเกตเห็นเรา และแน่นอนว่าชอบ(ถูกใจ)เรา สัญลักษณ์ “ถูกใจ” เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ความโหยหาที่จะรู้จักและเป็นที่รู้จักนั้นมีมานานตั้งแต่ที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ปุ่ม “ถูกใจ” ก็ยังคงทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีพอ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่เรารับใช้พระเจ้าผู้ซึ่งความรักของพระองค์นั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าปุ่มสัญลักษณ์เหล่านี้ ในเยเรมีย์ 1:5 เราได้เห็นถึงความผูกพันอันมีเป้าหมายที่ลึกซึ้งของพระองค์กับผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งที่พระองค์ทรงเรียกให้มาหาพระองค์ “เราได้รู้จักเจ้า ก่อนที่เราได้ก่อร่างตัวเจ้าที่ในครรภ์”

พระเจ้าทรงรู้จักผู้เผยพระวจนะคนนี้ก่อนที่ท่านจะปฏิสนธิในครรภ์ และท่านถูกออกแบบให้มีชีวิตที่มีความหมายและเพื่อจะทำพันธกิจ (ข้อ 8-10) และพระองค์ทรงเชื้อเชิญเราให้เข้ามาสู่ชีวิตที่มีเป้าหมายด้วยเช่นกัน โดยการที่เราได้มารู้จักพระบิดาองค์นี้ผู้ทรงรู้จัก รัก และถูกใจในตัวเราอย่างลึกซึ้ง

วันที่ 7 – พระคุณสำหรับวันนี้ | ขอพระคุณและสันติสุขเป็นของท่าน

ขอพระคุณและสันติสุขเป็นของท่าน

ปี 2020 เป็นปีที่ท้าทายอย่างแท้จริง โคโรนาไวรัสระบาดทั่วโลก ปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทุกแห่ง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติคุกรุ่น เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระดับโลกอย่างที่คาดไม่ถึงมาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดความกลัวและความวิตกกังวลไปทั่ว

ไม่ว่าคุณจะได้รับข่าวทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ หรือจากการสนทนากับเพื่อนบ้าน คุณจะพบว่าแทบไม่มีข่าวดีเลย เกือบทุกคืนที่ภรรยาและผมดูรายการถ่ายทอดข่าวต่างประเทศด้วยกัน แม้ว่าผู้ประกาศข่าวจะพยายามจบการรายงานข่าวด้วยเรื่องราวที่ให้ความหวัง แต่เรื่องดีเหล่านั้นไม่สามารถทดแทนความรู้สึกถึงการที่สิ่งต่างๆ กำลังพังทลายลงได้
สำหรับเปโตรผู้คุ้นเคยกับความยากลำบาก ในขณะที่เขียนจดหมายฉบับแรก เป็นเวลาเลวร้ายมากสำหรับผู้เชื่อในพระคริสต์ที่ต้องหลบหนีการตามทำร้ายและสังหารจากเนโร แต่กระนั้น จดหมายของเขายังเต็มไปด้วยความหวังสำหรับผู้ที่ต้องการพักเหนื่อยจากข่าวร้าย โดยที่คำเริ่มต้นจดหมายนั้นช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความทุกข์ทรมานที่ผู้เชื่อเผชิญอยู่ “ขอพระคุณและสันติสุขจงบังเกิดทวีคูณแก่ท่านทั้งหลายด้วยเถิด” (1 เปโตร 1:2)

ในช่วงเวลาที่ดี การทักทายด้วยถ้อยคำเช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่ยาก แต่ในเวลาแห่งความกลัวและวิตกกังวล เปโตรหนุนใจให้ผู้อ่านจดหมายในขณะนั้นและรวมถึงเราด้วย ที่จะระลึกถึงพระคุณและสันติสุขในพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นของขวัญอันดีเลิศจากพระเจ้า เป็น “มรดกอันล้ำค่า” “ซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า” (ข้อ 4) เป็นความหวังที่มีชัยเหนือข่าวร้ายของวันนี้ และเตือนให้เรามุ่งมองที่พระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งเติมเต็มเราด้วย “ความปีติยินดีเป็นล้นพ้นเหลือที่จะกล่าวได้” (ข้อ 8) เมื่อเรามอบแต่ละวันของเราไว้กับพระเจ้า

เขียนโดย อดัม อาร์ ฮอล์ซ

คิดใคร่ครวญ :
คุณคิดว่าการใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าช่วยให้คุณยืนหยัดผ่านเวลาแห่งความกลัวและความวิตกกังวลได้อย่างไร? ข้อพระคำตอนใดที่คุณต้องการท่องจำไว้เพื่อใช้ในเวลาที่ยากลำบาก?

อธิษฐาน :
พระบิดา เมื่อข้าพระองค์เผชิญกับฤดูกาลที่ยากลำบากในชีวิต โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เชื่อว่า พระองค์จะทรงยึดมั่นจิตใจข้าพระองค์ไว้ในความหวัง และเชื่อว่าพระองค์อยู่เหนือความกังวลและความกลัวที่ล้อมรอบข้าพระองค์อยู่…

วันที่ 7 - พระคุณสำหรับวันนี้ | ขอพระคุณและสันติสุขเป็นของท่าน

ขอพระคุณและสันติสุขเป็นของท่าน

ปี 2020 เป็นปีที่ท้าทายอย่างแท้จริง โคโรนาไวรัสระบาดทั่วโลก ปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทุกแห่ง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติคุกรุ่น เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระดับโลกอย่างที่คาดไม่ถึงมาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดความกลัวและความวิตกกังวลไปทั่ว

ไม่ว่าคุณจะได้รับข่าวทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ หรือจากการสนทนากับเพื่อนบ้าน คุณจะพบว่าแทบไม่มีข่าวดีเลย เกือบทุกคืนที่ภรรยาและผมดูรายการถ่ายทอดข่าวต่างประเทศด้วยกัน แม้ว่าผู้ประกาศข่าวจะพยายามจบการรายงานข่าวด้วยเรื่องราวที่ให้ความหวัง แต่เรื่องดีเหล่านั้นไม่สามารถทดแทนความรู้สึกถึงการที่สิ่งต่างๆ กำลังพังทลายลงได้
สำหรับเปโตรผู้คุ้นเคยกับความยากลำบาก ในขณะที่เขียนจดหมายฉบับแรก เป็นเวลาเลวร้ายมากสำหรับผู้เชื่อในพระคริสต์ที่ต้องหลบหนีการตามทำร้ายและสังหารจากเนโร แต่กระนั้น จดหมายของเขายังเต็มไปด้วยความหวังสำหรับผู้ที่ต้องการพักเหนื่อยจากข่าวร้าย โดยที่คำเริ่มต้นจดหมายนั้นช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความทุกข์ทรมานที่ผู้เชื่อเผชิญอยู่ “ขอพระคุณและสันติสุขจงบังเกิดทวีคูณแก่ท่านทั้งหลายด้วยเถิด” (1 เปโตร 1:2)

ในช่วงเวลาที่ดี การทักทายด้วยถ้อยคำเช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่ยาก แต่ในเวลาแห่งความกลัวและวิตกกังวล เปโตรหนุนใจให้ผู้อ่านจดหมายในขณะนั้นและรวมถึงเราด้วย ที่จะระลึกถึงพระคุณและสันติสุขในพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นของขวัญอันดีเลิศจากพระเจ้า เป็น “มรดกอันล้ำค่า” “ซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า” (ข้อ 4) เป็นความหวังที่มีชัยเหนือข่าวร้ายของวันนี้ และเตือนให้เรามุ่งมองที่พระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งเติมเต็มเราด้วย “ความปีติยินดีเป็นล้นพ้นเหลือที่จะกล่าวได้” (ข้อ 8) เมื่อเรามอบแต่ละวันของเราไว้กับพระเจ้า

เขียนโดย อดัม อาร์ ฮอล์ซ

คิดใคร่ครวญ :
คุณคิดว่าการใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าช่วยให้คุณยืนหยัดผ่านเวลาแห่งความกลัวและความวิตกกังวลได้อย่างไร? ข้อพระคำตอนใดที่คุณต้องการท่องจำไว้เพื่อใช้ในเวลาที่ยากลำบาก?

อธิษฐาน :
พระบิดา เมื่อข้าพระองค์เผชิญกับฤดูกาลที่ยากลำบากในชีวิต โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เชื่อว่า พระองค์จะทรงยึดมั่นจิตใจข้าพระองค์ไว้ในความหวัง และเชื่อว่าพระองค์อยู่เหนือความกังวลและความกลัวที่ล้อมรอบข้าพระองค์อยู่…

ของประทานจากพระเจ้า

หลายสิบปีก่อนผมไปค่ายของวิทยาลัยที่ทุกคนพูดถึงแบบประเมินบุคลิกภาพ คนหนึ่งบอกว่า “ฉันเป็น ISTJ!” อีกคนส่งเสียงสดใส “ฉันเป็น ENFP” ผมรู้สึกงง จึงล้อเล่นว่า “ผมเป็น ABCXYZ”

ตั้งแต่นั้นมาผมได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับแบบประเมินนั้น (ของมายเยอส์บริกส์) และแบบประเมินอื่นๆ เช่น การประเมินลักษณะนิสัย ผมพบว่าสิ่งเหล่านี้น่าสนใจเพราะจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองและผู้อื่นในแง่ที่เป็นประโยชน์และเผยให้เราเห็นถึงความชอบ จุดแข็งและจุดอ่อนของเรา หากเราไม่ใช้แบบประเมินต่างๆเหล่านี้มากเกินไป สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่พระเจ้าใช้เพื่อช่วยให้เราเติบโต

พระคัมภีร์ไม่ได้นำเสนอแบบประเมินบุคลิกภาพกับเรา แต่พระคัมภีร์ยืนยันถึงเอกลักษณ์ของแต่ละคนในสายพระเนตรของพระเจ้า (ดู สดด.139:14-16, ยรม.1:5) และแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงจัดเตรียมให้เราทุกคนมีลักษณะเฉพาะ และของประทานพิเศษเฉพาะตัวเพื่อรับใช้ผู้อื่นในอาณาจักรของพระองค์อย่างไร ในโรม 12:6 เปาโลอธิบายความคิดนี้ เมื่อท่านบอกว่า “เราทุกคนมีของประทานที่ต่างกัน ตามพระคุณที่ได้ประทานให้แก่เรา”

เปาโลอธิบายว่าของประทานเหล่านั้นไม่ใช่เพื่อเราแต่เพียงผู้เดียว แต่มีจุดประสงค์เพื่อรับใช้คนของพระเจ้านั้นคือพระกายของพระคริสต์ (ข้อ 5) ของประทานเหล่านั้นแสดงถึงพระคุณและความประเสริฐของพระองค์ ซึ่งทำงานในเราและผ่านเราทุกคน ของประทานเหล่านั้นเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนเป็นภาชนะพิเศษในการรับใช้พระเจ้า

“ขอโปรดช่วยให้ข้าพระองค์เชื่อ”

“ความเชื่อของลูกอยู่ที่ไหน แม้ลึกลงไป ณ ที่นั่น ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากความว่างเปล่าและมืดมิด...ถ้ามีพระเจ้า ขอทรงยกโทษให้ลูกด้วย”

ผู้ที่เขียนถ้อยคำเหล่านี้อาจทำให้คุณแปลกใจ คือแม่ชีเทเรซ่าผู้ซึ่งเป็นที่รักและทรงเกียรติคุณในฐานะผู้รับใช้คนยากไร้ในเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แม่ชีเทเรซ่าต่อสู้อย่างมากเพื่อความเชื่อของเธอมาเป็นเวลากว่าห้าทศวรรษ หลังจากที่เธอเสียชีวิตในปี 1997 การต่อสู้ครั้งนั้นจึงถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อส่วนหนึ่งในสมุดบันทึกของเธอได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ขอทรงเป็นแสงสว่างของข้าพระองค์

เราจะทำอย่างไรกับความสงสัยหรือความรู้สึกที่ว่าพระเจ้าไม่อยู่ด้วย ช่วงเวลาเหล่านั้นอาจสร้างความทุกข์ทรมานกับผู้เชื่อบางคนมากกว่าคนอื่นๆ แต่มีช่วงหนึ่งในชีวิตของผู้เชื่อที่สัตย์ซื่อจำนวนมากที่จะประสบกับช่วงเวลาหรือฤดูกาลแห่งความสงสัยเช่นนี้

ผมรู้สึกขอบคุณที่พระคัมภีร์มอบคำอธิษฐานที่สวยงามและขัดแย้ง ซึ่งแสดงถึงทั้งความเชื่อและการขาดความเชื่อ ในมาระโกบทที่ 9 พระเยซูทรงพบบิดาผู้มีบุตรชายที่ถูกผีทำให้ทุกข์ทรมานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (ข้อ 21) เมื่อพระเยซูตรัสว่าชายคนนั้นต้องมีความเชื่อ (“ใครเชื่อก็ทำให้ได้ทุกสิ่ง” ข้อ 23) เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้นขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด” (ข้อ 24)

คำวิงวอนที่ซื่อสัตย์จากใจจริงนี้เชื้อเชิญเราทั้งหลายที่ต่อสู้กับความสงสัยให้มอบมันไว้กับพระเจ้า โดยเชื่อวางใจว่าพระองค์จะทรงเสริมความเชื่อของเราให้แข็งแกร่งได้ และยึดเราไว้อย่างมั่นคงในท่ามกลางหุบเหวที่ลึกที่สุดและมืดมนที่สุดที่เราจะเดินข้ามไป

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา